อย่างที่ทราบกันว่าก่อนหน้ามีข้อถกเถียงกันเรื่องจัดเก็บภาษีมรดก มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม จึงได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บมรดกภาษีขึ้น เพราะภาษีการรับมรดกเป็นอีกหนึ่งรายได้ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น คนที่มีฐานะยากจน เป็นต้น เป็นการช่วยกระจายภาระภาษี หารายได้เข้ารัฐ และช่วยให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลประกาศใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมา ซึ่ง ภาษีมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากผู้รับมรดกโดยตรง ซึ่งผู้รับมรดกในที่นี้คือ ทายาท ไม่ว่าจะเป็นทายาทตามพินัยกรรม หรือทายาทโดยธรรม ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย และแม้จะไม่ใช่บุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่หากทรัพย์สินนั้นอยู่ในประเทศไทยก็ต้องเสียภาษี ในเมื่อเราเป็นผู้เสียภาษีส่วนนี้ แล้วต้องจ่ายในอัตราเท่าไหร่ ถ้าลองมาคำนวนเล่นๆคือ ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีทรัพย์สินที่เป็นมรดกรวมกันเกิน 100 ล้านบาท ให้เสียภาษีในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทนั้น โดยจะเสียภาษีในอัตรา ดังนี้
1. สำหรับผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน จะต้องเสียภาษีร้อยละ 5 ของมูลค่ามรดก
2. สำหรับกรณีอื่นๆ เช่น ผู้รับพินัยกรรม จะต้องเสียภาษีร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดก
จะมีกรณียกเว้นสำหรับคู่สมรส หรือกรณีที่ยกให้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา กิจการสาธารณประโยชน์ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องจ่ายภาษีดังกล่าว
ที่นี้เรามาดูกันว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ที่เราได้รับมาแล้วต้องเสียภาษีการรับมรดก
1. อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย
2. หลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ เช่น หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ต่างๆ
3. เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน
4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน ได้แก่ รถ เรือ มอเตอร์ไซค์
5. (ถ้ามี) ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นตามกฎหมายในอนาคต
ระยะเวลาที่ผู้ได้รับมรดกต้องไปชำระภาษีมรดกนี้คือ ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันได้รับมรดกจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ โดยต้องทำเรื่องให้เสร็จภายใน 1 ปี หรือถ้ามีเรื่องให้ยืดเยื้อหรือมีเหตุไม่คาดคิด สามารถทำเรื่องต่อรองเพิ่มเวลาได้ไม่เกิน 3 ปี หากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงไม่ไปจ่ายภาษีตามที่กำหนดไว้ จะถือว่าผิดกฏหมายมรดก เป็นความผิดอาญามีโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และอธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึด อายัด หรือนำไปขายทอดตลาดทรัพย์มรดกโดยไม่ต้องขอศาลได้อีกด้วย โทษไม่เบาเลยใช่ไหมล่ะ
อันที่จริงภาษีการรับมรดกไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่สำหรับประเทศไทยซักเท่าไหร่ อีกทั้งหลายๆ ประเทศในโลกก็มีการบังคับใช้มาก่อนเราอีก ซึ่งประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกในอัตราที่สูงสุดคือ สวิสเซอร์แลนด์ เก็บสูงถึงร้อยละ 55 รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ร้อยละ 50 ของเราอาจจะดูเด็กไปเลยเมื่อไปเทียบกับประเทศเหล่านี้ สำหรับบ้านไหนที่มีมรดกเยอะหน่อย แนะนำให้เริ่มวางแผนการแบ่งมรดกจัดการสัดส่วนของพินัยกรรมทางทรัพย์สินให้ดีและละเอียดรอบคอบตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและครอบครัวในภายหลัง จะได้ไม่ลำบากหรือเกิดข้อพิพาทกันเองของทายาทในบ้าน