รายงาน 2021 Pet-Inclusive Housing Report โดย Michelson Found Animals Foundation ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยให้เช่า และผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่มีสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจพบว่า 79% ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยให้เช่า ระบุว่า ที่อยู่อาศัยที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้ จะถูกปล่อยเช่าได้ง่าย
อีกทั้ง 35% ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้เช่าที่อยู่อาศัย ได้ย้ายออกจากที่อยู่อาศัยที่เช่าอยู่ก่อนหน้า เพื่อหาที่อยู่อาศัยใหม่ที่เหมาะสมต่อสัตว์เลี้ยง
สะท้อนว่ายังมีความต้องการที่อยู่อาศัยจากผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ท่ามกลางการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง ไม่เพียงแต่เฉพาะด้านอาหาร สินค้า และการรักษาโรคสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมองหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การเลี้ยงสัตว์ ตามเมกะเทรนด์ Pet Humanization หรือการดูแลและให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเทียบเท่ากับเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว
สำหรับประเทศไทยนั้น ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ในปี 2019 มีครัวเรือนไทยที่เลี้ยงสุนัขและแมวรวมกันราว 34% ของครัวเรือนไทยทั้งประเทศ และเพิ่มขึ้นมาสู่ 37% ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งประเทศในปี 2022 สะท้อนว่าคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นมาก
ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมเลี้ยงสัตว์ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ท่ามกลางความจำเป็นในการกักตัวภายในที่อยู่อาศัยในช่วงที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นไปอย่างรุนแรง
โดยเมกะเทรนด์ Pet Humanization เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในไทยปรับกลยุทธ์หันมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่เจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง ด้วยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ด้านการเลี้ยงสัตว์ ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ และคอนโดมิเนียม
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบที่ตอบโจทย์ด้านการเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่จะชูจุดขายด้านพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวาง ขณะที่การพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมก็มีการชูจุดขายด้านการอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้ โดยมีการใช้เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้างทั้งภายในและภายนอก ที่สะดวกต่อการทำความสะอาด บำรุงรักษา ทนทานต่อรอยขีดข่วน และกักเก็บเสียงของสัตว์เลี้ยงไม่ให้เล็ดลอด
รวมถึงการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อติดตามเฝ้าดูสัตว์เลี้ยงได้ตลอด 24 ชั่วโมง การจัดพื้นที่ส่วนกลาง อย่างทางเดินและสนามหญ้าที่กว้างขวาง รองรับการพาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น และการวิ่งเล่นของสัตว์เลี้ยงได้ ไปจนถึงบริการดูแลและรับฝากสัตว์เลี้ยงภายในโครงการ
โดยคอนโดมิเนียมที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดจำนวน ขนาด และน้ำหนักตัวของสัตว์เลี้ยง รวมถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงอาจต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพิ่มเติมอีกด้วย
SCB EIC มองว่า Pet Humanization จะยังคงเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญในไทยต่อเนื่องไปในอนาคต โดยมีปัจจัยหนุนทั้งแนวโน้มประชากร Gen Z, Gen Y และประชากรผู้สูงอายุที่นิยมเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนแก้เหงา
รวมถึงแนวโน้มครอบครัวขนาดเล็กที่มีบุตรน้อยลงหรือไม่มีบุตร ซึ่งนิยมเลี้ยงสัตว์เช่นกัน ประกอบกับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้มีมากขึ้น ส่งผลให้ข้อจำกัดด้านขนาดหรือลักษณะของที่อยู่อาศัยสำหรับ การเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มลดลงในอนาคต
โดยกลยุทธ์สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบอาจอยู่ในรูปแบบการนำเสนอที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่สำหรับต่อเติมห้องในกรณีที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องการห้องสำหรับสัตว์เลี้ยง ในขณะที่กลยุทธ์สำหรับการพัฒนาคอนโดมิเนียมอาจชูจุดขายด้านการออกแบบห้องที่มีอากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี เพื่อสุขอนามัยที่ดีสำหรับผู้อยู่อาศัยและสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ การนำ Proptech มาช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเลี้ยงสัตว์ก็จะเป็นการสร้างความแตกต่างและความคุ้มค่าในสายตาผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะระบบอัตโนมัติ ทั้งแสงสว่างและอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อสัตว์เลี้ยง การตั้งเวลาการให้อาหารและน้ำ ไปจนถึงระบบเตือนภัยที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงภายในที่อยู่อาศัย
SCB EIC มองว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ด้านการเลี้ยงสัตว์ อยู่ที่ความเข้าใจ Insight ของผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อนำมาสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ส่วนกลางที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยสำหรับผู้อยู่อาศัยและสัตว์เลี้ยงได้จริง
รวมถึงการคัดเลือกพันธมิตรผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงมาให้บริการภายในโครงการที่ต้องได้มาตรฐาน เช่น Pet shop บริการดูแลรับฝากสัตว์เลี้ยง คลินิกและโรงพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ การออกแบบที่อยู่อาศัยและพื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงการบริหารจัดการโครงการที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์ทั้งผู้ที่เลี้ยงสัตว์ และผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่รบกวนกัน จะนำมาซึ่งการสร้างจุดแข็งให้กับแบรนด์ของผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ด้านการเลี้ยงสัตว์ ท่ามกลางเมกะเทรนด์ Pet Humanization ได้ในระยะต่อไป
ที่มา : https://www.prachachat.net/