🔸
การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) เป็นกระบวนการที่ใช้ข้อมูลพื้นฐาน และการคาดคะเนอย่างเป็นระบบมาใช้ในการตัดสินใจว่าจะลงทุนในโครงการ หรือธุรกิจต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร โดยจะต้องนำปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภาพรวมการตลาด ข้อมูลทางเทคนิค ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ แง่มุมการบริหารจัดการ ประเด็นทางสังคม และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องใช้งานร่วมกับแผนธุรกิจที่มีรายละเอียดหลากหลายด้านประกอบกัน
🔸
สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่อยากประเมินความเป็นไปได้ของไอเดียทางธุรกิจที่มีอยู่เบื้องต้น ก่อนที่จะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจัง อาจเริ่มจากการตอบคำถาม 5 ข้อนี้ให้ได้ด้วยตัวเองก่อน
🔸
1) Market Feasibility – มีความต้องการในตลาดไหม
ความเป็นไปได้ในแง่การตลาด คือการศึกษาว่าไอเดียสินค้าหรือบริการที่คิดไว้ มีความต้องการในตลาดมากน้อยเพียงใด หากมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจริงก็ต้องเจาะลึกลงไปอีกว่าเป็นจำนวนความต้องการที่มากเพียงพอสำหรับการสร้างธุรกิจได้หรือไม่
🔸
2) Production Feasibility – ผลิตได้จริงไหม
ความเป็นไปได้ในเชิงการผลิต คือการศึกษากระบวนการในการผลิตสินค้า หรือการจัดการบริการนั้นขึ้นมา ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ศึกษาวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยวิเคราะห์จากทั้งในแง่มุมของคุณภาพ ราคา ปริมาณ และเวลาที่พอเหมาะพอดีกันกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
🔸
3) Law & Regulation Feasibility – กฎหมายอนุญาตไหม
ความเป็นไปได้ในเชิงกฏหมาย คือการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดไว้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เพราะต่อให้ไอเดียล้ำสมัยก้าวหน้าเพียงใด แต่ไม่สามารถเข้ากับระเบียบข้อบังคับที่เป็นอยู่ได้ ก็อาจไปได้ไม่ไกลอย่างที่หวัง โดยควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไปจนถึงกฎหมายของประเทศอันเป็นที่ตั้งของธุรกิจคู่ค้าและองค์กรที่จัดหาสินค้าและบริการ (Supplier)
🔸
4) Business Model Feasibility – รูปแบบการสร้างรายได้คืออะไร
ความเป็นไปได้และความเหมาะสมของรูปแบบการสร้างรายได้ และกำไรที่เหมาะสม วิเคราะห์หารูปแบบการสร้างรายได้ที่เหมาะสม เพราะทุกไอเดียธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงโครงสร้างทางการเงินที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปต่อและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การเขียนแผนธุรกิจออกมาเป็นรูปธรรม จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการคำนวณความคุ้มค่าในการลงทุน และช่วยทำให้มองเห็นภาพรวมของธุรกิจอย่างรอบด้าน
🔸
5) Financial Feasibility – คุ้มไหมที่จะลงทุน
ความเป็นไปได้ในทางการเงิน คือการประเมินจำนวนเงินลงทุนที่คาดว่าจะจัดสรรมาใช้ได้ ประเมินความเป็นไปได้ในการบริหารกระแสเงินสด อาจนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางตลาดและการผลิตมาใช้ประกอบเพื่อประเมินได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น หรือทดลองใช้ Financial Feasibility Canvas: FFC เครื่องมือส่วนต่อขยายที่ช่วยประเมินความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ เป็นกรอบคิดสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นฐานการเงิน ช่วยให้ผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจได้อย่างมั่นใจ พัฒนาขึ้นโดย ดร.วสุ กีรติวุฒิเศรษฐ์ จากคณะบริหารธุรกิจ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ อาจารย์ด้านนวัตกรรม และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล