ปัจจุบันสังคมเมืองนั้นกำลังมี การขยายตัว มากขึ้น ไม่ใช่แค่คนต่างจังหวัดเท่านั้นที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่เพื่อนบ้านของเราจำนวนไม่น้อยก็มาเสี่ยงโชคหางานทำในโรงงานต่างๆ กันเป็นจำนวนมาก ธุรกิจที่เติบโตกับการเพิ่มจำนวนคนที่ว่านี้คือห้องพัก อพาร์ทเม้น รวมถึงธุรกิจตลาดนัด ดังเราจะเห็นได้ว่าตลาดนัดในปัจจุบันทั้งรายเล็กรายใหญ่เกิดและเปิดตัวใหม่กันจำนวนมาก เรียกว่าหากมีพื้นที่ว่างเปล่าที่ไหนสักแห่งและดูมีทำเลน่าสนใจคือเป็นจุดศูนย์กลางของที่พัก โรงเรียน โรงงาน สถานที่นั้นมักจะแปรสภาพเป็นตลาดนัดขนาดย่อมๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งที่ทำแล้วประสบความสำเร็จและมีอีกไม่น้อยที่ทำแล้วไม่รอด
www.ThaiSMEsCenter.com มีตลาดนัดน่าสนใจที่ทีมงานเราไปเห็นมากับตาตัวเองตั้งแต่พื้นดินยังว่างเปล่าจนปัจจุบันเป็นตลาดนัดที่ใหญ่โตและมีแนวโน้มจะเจริญรุ่งเรืองมากๆ ตลาดนัดแห่งนี้ไม่มีชื่อโก้เก๋ ก็เรียกสั้นๆ กันว่าตลาดนัด ที่บริหารโดยทีมงาน น. สายชล เป็นตลาดที่เปิดบริการกันตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์เรียกว่า 1 สัปดาห์เว้นว่างแค่วันจันทร์วันเดียวเท่านั้น
เท่าที่เราได้เห็นภาพของตลาดนัดแห่งนี้ด้วยตัวเองมาระยะหนึ่งก็พอจะสรุปเป็น 7 วิธีบริหารที่ตลาด รายอื่นเอาไปใช้เป็นแบบอย่างได้ซึ่งน่าจะสำเร็จได้ไม่แพ้ตลาดนัดแห่งนี้เช่นกัน
1. เริ่มจากเล็กไปหาใหญ่
ตอนแรกที่เรามองเห็นตลานัดแห่งนี้ก็เพราะเป็นทางผ่านที่ต้องสัญจรไปมาทุกวัน โดยทำเลของตลาดนั้นถือว่าเหมาะสมมีโรงงาน หมู่บ้าน โรงเรียน อพาร์ทเม้น อยู่รอบทิศทาง ที่ตรงนี้เป็นพื้นซึ่งถมกันขึ้นมาใหม่ก็น่าจะใช้งบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่อยู่พอสมควรทีเดียว
ตลาดในครั้งแรกๆ จึงเปิดตัวไม่เอิกเกริกนัก เรียกว่ามีพ่อค้าแม่ค้าเพียงเล็กน้อย มีแค่เต้นท์กางให้ 2 หลังพื้นที่ก็ดินลูกรังที่ถมขึ้นมาใหม่ พูดกันตามความจริงในทีแรกเราก็คิดว่าตลาดนี้คงไปได้ไม่นานเหมือนตลาดอื่นๆ ที่เราเคยเห็น แต่งานนี้ผิดคาดเพราะจากฟีดแบคของคนที่เคยไปเดินตลาดแห่งนี้ต่างติดใจในตัวของตลาดจากนั้นพัฒนาการของตลาดก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นซึ่งเราจะอธิบายกันทีละข้อต่อไป
แต่สรุปวิธีการทำตลาดที่ถูกต้องเราควรเริ่มจากจุดเล็กๆแล้วค่อยพัฒนาเพื่อดูฟีดแบคของลูกค้าซึ่งหากผิดพลาดก็จะได้ไม่ต้องเจ็บตัวมากหรือหากทำแล้วไปได้ดีก็ค่อยพัฒนาให้เป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้นในภายหลังได้ อีกนิดหนึ่งละกันตลาดแห่งนี้เริ่มแรกเขาเปิดบริการในวันอังคาร ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แต่ล่าสุด เปิดบริการทุกวันยกเว้นวันจันทร์วันเดียวเท่านั้นในตอนนี้
2. เน้นเรื่องความสะอาดและความสะดวกสบายของลูกค้า
ตอนแรกที่เราเดินตลาดนี้ก็ในยุคที่ตลาดยังเป็นดินลูกรังถม บางส่วนก็ยังเป็นดินเลอะเทอะ พ่อค้าแม่ค้าที่มาตั้งแผงขายรวมกับคนที่มาเดินในตลาดก็ยังไม่ได้รับความสะดวกสบายมากนักยิ่งเป็นฤดูฝนเช่นนี้อัตราความเลอะเทอะยิ่งเป็นทวีคูณที่เดียว แต่เชื่อหรือไม่ว่าเพียงไม่นาน ไม่ต้องรอให้ตลาดมีกำไรก่อนจึงค่อยลงมือทำ
เจ้าของตลาดซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคือใครพัฒนาตลาดได้อย่างรวดเร็วเริ่มตั้งแต่การเทคอนกรีตทำไปพร้อมๆกับการเปิดบริการในแต่ละวัน ช่วงแรกจึงดูเกะกะ เลอะเทอะกลิ่นปูนคละคลุ้งแต่ผ่านไปสักระยะพอเข้าที่เข้าทางกลายเป็นว่าตลาดนัดแห่งนี้ดูดีขึ้นผิดหูผิดตา
นอกจากพื้นที่เทคอนกรีตให้ความสะดวกสบายพ่อค้าแม้ค้าและลูกค้ายังมีการทำท่อระบายน้ำป้องกันน้ำจากร้านค้ามาเฉอะแฉะพื้นตลาดรวมถึงมีการติดตั้งเต้นท์กันแดดเพิ่มเติมจึงสามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่ 15.00 น. แม้แดดจะยังแรงจ้าแต่ว่าคนเดินในตลาดไม่ต้องทรมานกับความร้อนอีกต่อไป
3. ต้องมีจุดจอดรถที่ดี
เรื่องของจุดจอดรถน่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้ตลาดแห่งนี้เติบโตได้อย่างรวดเร็วไม่ใช่แค่จุดจอดรถเท่านั้นเจ้าของตลาดยังจัดสรรเจ้าหน้าที่มาคอยอำนวยความสะดวกในการจราจรทั้งรถที่จะเข้าตลาดหรือสัญจรไปมาก็ไม่มีปัญหาเรื่องรถติดแต่อย่างใด
บริเวณที่จอดรถจะอยู่ด้านหลังตลาดแม้ไม่ใช่พื้นที่กว้างขวางมากนักแต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีการพัฒนาจุดจอดรถให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงการมีพนักงานมาคอยดูแลเวลาจะจอด หรือเอารถออกก็ทำให้ลูกค้าแวะเวียนมาที่ตลาดนี้กันอย่างเนืองแน่นทีเดียว
4. ตั้งกติกาพ่อค้าแม่ค้าต้องร่าเริงแจ่มใส
งานนี้หากใครไม่ลองมาสัมผัสด้วยตัวเองก็คงยากจะเข้าใจว่าบางครั้งการที่จะเป็นตลาดนัดที่คนติดใจนั้นพ่อค้าแม่ค้าก็มีส่วนสำคัญมาก ตลาดบางแห่งที่ไม่มีการควบคุมเรื่องนี้ พ่อค้าแม่ค้าทำตามอารมณ์และความพอใจ บางครั้งกิริยาอาการน้ำเสียงในการพูดคุยกับลูกค้าเรียกว่าไล่แขกได้เลยทีเดียว แต่ในตลาดนัดแห่งนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
สังเกตได้ว่าพ่อค้าแม่ค้าทุกคนเหมือนได้รับการตกลงมาเป็นอย่างดีว่าต้องยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาเอาใจลูกค้า ไม่ใช่ประเภทถามคำตอบคำหรือบางทีก็ไม่ตอบสักคำด้วยซ้ำไป เราไปที่ตลาดนี้มาหลายครั้งก็ได้พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าหลายคน ก็เห็นอารมณ์ขันในการค้าขายที่เรียกว่าแตกต่างจากตลาดอื่นมากอยู่เหมือนกัน
5. กำหนดป้ายบอกราคาให้ลูกค้าทราบชัดเจน
เด่นชัดที่สุดคงเป็นเรื่องป้ายบอกราคาที่ดูให้ดีว่าจะมีอยู่ทุกร้านตั้งแต่ร้านผัก ร้านขายหมู ร้านขายขนม ขายกับข้าว แม้แต่ของเบ็ดเตล็ดก็ยังติดป้ายราคาชัดเจน นี่คือจิตวิทยาเบื้องต้นที่น่าจะเป็นข้อกำหนดร่วมกันระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากับเจ้าของตลาดในการแสดงป้ายราคาที่ชัดเจนทำให้คนซื้อสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
แน่นอนว่าแม้บางทีเราจะเห็นป้ายราคาก็ยังอดถามราคาพ่อค้าแม่ค้าไม่ได้แต่ที่นี่เขาไม่มาชักสีหน้าหรือชี้มือชี้ไม้ให้อ่านป้าย เขาก็ตอบคำถามเราอย่างดีงานนี้ก็ต้องมีการซื้อสินค้ากันเกิดขึ้น ซึ่งทีมงานเราก็รู้สึกว่านี่คือตลาดยุคใหม่ที่แท้จริงและที่อื่นก็ควรเลียนแบบเอาไว้บ้าง
6. เจ้าของตลาดต้องง่ายต่อการเข้าพบ
อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่ก็จำเป็นไม่น้อยตลาดบางแห่งเจ้าของตลาด หรือตัวแทนเจ้าของตลาดเป็นใครอยู่ที่ไหนเราก็ไม่รู้ การหาตัวแต่ละครั้งแต่ละทีนั้นยากแสนยาก แต่ที่ตลาดนัดแห่งนี้คุณสามารถเดินไปหาเจ้าของตลาดที่นั่งอยู่ในจุดพักหลังตลาด
บางครั้งเจ้าของตลาดนี้แหละที่คอยประชาสัมพันธ์ให้เราได้ทราบว่าวันนี้สินค้าในตลาดมีอะไรบ้าง การที่เราได้เห็นเจ้าของตลาดอยู่ในพื้นที่ก็ช่วยให้เราชี้แนะสิ่งที่ควรปรับปรุงได้ง่ายหรือบางทีเราต้องการพื้นที่ค้าขายก็จะได้พูดคุยกับเจ้าของตลาดโดยตรงง่ายขึ้นด้วย
7. ห้องน้ำต้องมีไว้บริการและพัฒนาตลาดอย่างต่อเนื่อง
คนมาตลาดก็ต้องมีบ้างที่อยากถ่ายหนักถ่ายเบาซึ่งเป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใคร บางตลาดละเลยเรื่องนี้เพราะคิดว่าไม่จำเป็นแต่ตลาดยุคใหม่ไม่อาจปล่อยผ่านเรื่องนี้ได้ควรมีห้องสุขาไว้คอยบริการอาจจะไม่ต้องมากมายแต่ก็ควรจะมีบ้างซึ่งที่ตลาดแห่งนี้ก็มีแค่ 2 ห้องแต่ก็ยังเพียงพอต่อคนที่มาเดินซื้อของ
แม้จะดูน้อยไปสักนิดแต่เราก็เบาใจว่าถ้าเกิดปัจจุบันทันด่วนขึ้นมาก็มีตัวช่วยให้เบาใจ รวมถึงเรื่องการพัฒนาตลาดที่ไม่ควรหยุดนิ่งต่อเติม เพิ่มความสะดวกสบาย ยิ่งเป็นตลาดที่คาดว่าคนเริ่มติดแล้วยิ่งต้องปรับปรุงให้ดีเพื่อจะได้เป็นตลาดขนาดใหญ่ในอนาคตด้วย
นี่คือเรื่องของตลาดนัดที่เราเห็นว่าเป็นแนวทางของการลงทุนในยุคนี้ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีแต่ก็อยู่ที่วิธีบริหารจัดการอย่างมืออาชีพหากใครมีทำเลดีๆ หรือว่ามีตลาดนัดน่าสนใจและอยากให้ทีมงานไทยแฟรนไชส์ไปเยี่ยมชมดูบ้างก็ลองติดต่อกันเข้ามาแล้วความจริงที่เราพบเห็นก็จะนำเสนอสู่สายตาผู้อ่านทั่วประเทศกันเลยทีเดียวขอบคุณข้อมูลจาก: www.thaismescenter.co