รถไฟฟ้าสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) เกิดขึ้น เนื่องจากต้องการลดปัญหาการจราจรติดขัด บนถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์ และ ถนนเทพารักษ์ ที่มีปัญหารถติดมาอย่างยาวนานคนในพื้นที่น่าจะรู้กันดี โดยรถไฟฟ้าเส้นนี้สามารถพาคนเข้า-ออกตัวเมืองได้ง่ายมากขึ้น และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าในอนาคตได้อีกหลายเส้นทาง อาทิ สายสีน้ำเงิน, สายสีเทา, สายสีส้ม, สายสีชมพู, Airport Rail Link และสายสีเขียว เป็นต้น
เส้นทางเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
สำหรับตัวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นลักษณะ Monorail หรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (ยกระดับ) ที่มีทางเดินรถเล็กกว่าปกติ แต่ตัวรถขนาดใหญ่จุคนได้เท่ากับขบวนของ BTS เนื่องจากก่อสร้างบนถนนที่ไม่ได้มีขนาดกว้างมาก(ถนนลาดพร้าว) และลดการขอเวนคืนที่ดินให้มากที่สุด โดยรถไฟฟ้าเส้นนี้ ยาวประมาณ 30.4 กม. มีทั้งหมด 23 สถานี แบ่งเป็น 2 ช่วง 1.รัชดา-ลาดพร้าว-พัฒนาการ, 2.พัฒนาการ-สำโรง
- จุดเริ่มต้น บริเวณแยกรัชดา (เชื่อมกับอาคารจอดแล้วจร สถานี MRT ลาดพร้าว) ทั้งหมด 1 สถานี
- วิ่งเข้า ถนนลาดพร้าว ช่วงตอนกลาง-ปลาย (ช่วงแยกรัชดา-แยกบางกะปิ) ทั้งหมด 7 สถานี
- จากนั้นเลี้ยวเข้า ถนนศรีนครินทร์ วิ่งยาวลงมาจนถึงแยกเทพารักษ์ (กรุงเทพ-สมุทรปราการ) ทั้งหมด 12 สถานี
- เลี้ยวเข้า ถนนเทพารักษ์ เพื่อวิ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS สำโรง) ทั้งหมด 3 สถานี
ภาพรวมที่อยู่อาศัยของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ที่อยู่อาศัยตามรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนี้ต้องบอกว่า โดยรวมแล้วจะมีบรรยากาศที่แตกต่างจากรถไฟฟ้าในเมืองที่เราได้ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะลักษณะของทำเลรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนี้ บรรยากาศโดยรวมเป็นการผสมกันระหว่างอาคารสูง (คอนโดมิเนียม) และโครงการแนวราบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอิงไปทางโครงการแนวราบเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งตัวสถานีกับโครงการเองอาจจะไม่ได้อยู่ใกล้โครงการในระยะที่เดินได้สบาย