งานศึกษาของนิโอ ทาร์เก็ต ซึ่งเป็นบริษัทด้านการสื่อสารและสร้างชื่อเสียงองค์กร พบว่า ผู้หญิงมีสถานะทางการเงินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากจำนวนผู้หญิงวัยทำงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีบทบาททางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ที่ภาคธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งเรียกว่า “SHEconomy” หรือเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง จึงทำให้มีคำถามที่น่าสนใจว่า จากเทรนด์ดังกล่าวภาคธุรกิจไทยจะสามารถอาศัยโอกาสจากการเติบโตนี้ได้อย่างไร
ในขณะที่สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศไทยเริ่มจะมีเปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมากขึ้น ประกอบกับทัศนคติในเรื่องการใช้ชีวิตเริ่มปรับเปลี่ยน อาจจะมีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานที่มีบทบาททางสำคัญมากขึ้น รวมถึงเริ่มมีมุมมองต่อการใช้ชีวิตเดี่ยวมากเช่นกัน
สำหรับผลต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น “ผู้หญิง” มีอิทธิพลสูงเช่นกัน
จากข้อมูลของบริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาเกี่ยวกับ Big Data ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมการค้นหาที่อยู่อาศัยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2565 ว่า ผู้คนหาที่อยู่อาศัยตลอดปี 2565 รวม 419,411 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 22% โดยผู้เยี่ยมชมส่วนใหญ่มาจาก 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และเชียงราย (คิดเป็นประมาณ 80%)
และหากลงลึกจะพบว่า ในการสืบค้นหาข้อมูลนั้น เพศหญิงมีสัดส่วนมากถึง 67.44% และชาย 32.56% ที่น่าสนใจในช่วงอายุนั้นพบว่า อายุตั้งแต่ 25-34 ปี ค้นหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยมากถึง 47.97% รองลงมาอายุตั้งแต่ 35-44 ปี สัดส่วน 39.03% อายุ 45-54 ปี น้อยประมาณ 7.31% อาจะเป็นเพราะเรื่องมีที่อยู่อาศัยแล้ว เพียงมาค้นหาเป็นบ้านหลังที่สอง และอายุไม่เกิน 24% มีประมาณ 5.42%
และผู้เยี่ยมชมสนใจบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่ปิดการขายแล้ว สำหรับบ้านแฝดและทาวน์โฮมผู้เยี่ยมชมสนใจโครงการที่ยังเปิดการขาย ที่อยู่อาศัยราคา 1-3 ล้านบาท ได้รับความสนใจมากที่สุดในทุกประเภทแบบบ้าน สำหรับคอนโดฯ ช่วงราคาที่ผู้บริโภคให้ความสนใจที่สุด คือ ระหว่าง 1-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท
เครื่องยนต์หลัก ท่องเที่ยวและบริการขับเคลื่อน GDP
ลุ้นปี 67 มูลค่าโอนคอนโดฯ แตะ 2.2 แสนล้านบาท
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงภาพรวมที่เป็นปัจจัยหนุนต่อภาคอสังหาฯ ว่า การขยายตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการที่กระจายตัวในกรุงเทพฯ และไปทั่วทุกภูมิภาคจะเป็นผลดีต่อโลคอลคอนเทนต์ภายในประเทศ ต่างจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เราต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ และไม่ได้กระตุ้นเรื่องใช้โลคอลคอนเทนต์ภายในประเทศไทย ดังนั้น จีดีพี ประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวและบริการ จะส่งผลบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์สูงมาก การที่นักท่องเที่ยวมาจับจ่ายใช้สอยและซื้อสินค้านั่นหมายความว่า เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นด้วยการท่องเที่ยว ทำให้ภาคแรงงานมีกำลังซื้อและจะมีผลให้คนมาเลือกซื้อบ้าน โดยเฉพาะตลาดล่างที่ในช่วงเกิดโควิด-19 ได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่หากมองเป็นภาพรวมแล้ว อสังหาฯ ไม่ได้แย่ เพราะตลาดบ้านจัดสรรเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านแพงที่เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนตลาดรวมอสังหาฯ ขณะที่ตลาดคอนโดฯ ไม่ได้รับความสนใจในช่วงที่เกิดโควิด-19
“ความเห็นส่วนตัว บ้านจัดสรรปี 2566 ไม่ได้ดีและไม่แย่ ทรงตัว แต่มีบางสำนักประเมินจะชะลอตัวลงร้อยละ 5-10 เนื่องจากหากย้อนไปช่วงโควิด บ้านจัดสรรบวกขึ้นไปถึงร้อยละ 10 เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์เรา บ้านจัดสรรไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 กำลังซื้อในอนาคตถูกดูดมาค่อนข้างมาก ยอดโอนบ้านแพงตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปมีมาก เป็นตลาดของกลุ่มบ้านหลังที่สองและหลังที่สาม ซึ่งในปีนี้ผมมองว่า บ้านเซกเมนต์ที่เจาะกลุ่มคนทำงานประจำ มนุษย์เงินเดือน การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น จะมีผลดีต่อบ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาท น่าจะขายได้ดีที่สุด บ้านจัดสรรในต่างจังหวัดราคา 3-5 ล้านบาท ยังดี ยกเว้นตลาดทาวน์เฮาส์ที่ยังมีปัญหาในเรื่องกำลังซื้อ ซัปพลายจำนวนมาก” นายพีระพงศ์ กล่าว
สำหรับตลาดคอนโดฯ ภาพรวมยอดขายใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 ประมาณ 50,000 กว่าหน่วย คาดว่าปีนี้ยอดขายตลาดคอนโดฯ เติบโตขึ้นร้อยละ 3-4 อาจจะเห็นตัวเลข 65,000 หน่วยได้ ใกล้เคียงกับปี 2561 ที่เราเห็นตัวเลขเติบโตเพราะการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเวลาเปิดประเทศ คอนโดฯ จะได้รับปัจจัยบวก ซึ่งในปีที่ผ่านมา ยอดโอนคอนโดฯ ประมาณ 170,000 ล้านบาท และปีนี้ยอดโอนจะฟื้นตัวเลขน้อย และจะเป็นผลดีต่อตัวเลขแบ็กล็อก เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไม่ได้เปิดโครงการ ซึ่งในระบบยังมีห้องชุดรอขายประมาณ 2 แสนล้านบาท ยังเพียงพออยู่
“เราคาดว่าปีนี้ยอดขายน่าจะไประดับ 1.9 แสนล้านบาท และปี 2567 น่าจะไปสู่ระดับ 2.2 แสนล้านบาท จากโครงการคอนโดฯ ที่เปิดตัวในปีนี้ และจากตัวเลขการดูดซับสต๊อกที่ค้างอยู่ในระบบ”
พลังผู้หญิง กับกำลังซื้อมหาศาล!!
นายพีระพงศ์ กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางประชากร พบว่า ปัจจุบัน อัตราการเกิดของเพศหญิงจะมากกว่าเพศชายประมาณร้อยละ 60 ซึ่งในส่วนของบริษัทออริจิ้นฯ มีพนักงานที่เป็นสุภาพสตรีประมาณ 2 ใน 3 จาก 3,000 คน นั่นแสดงให้เห็นว่า เป็นกลุ่มและตลาดที่มีศักยภาพสูง
“กลุ่มผู้หญิงมีกำลังซื้อสูงและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ชาย เช่น การเลือกซื้อที่อยู่อาศัย และจะเป็นเทรนด์ที่ทุกธุรกิจจะต้องหันมาให้ความสำคัญ” นายพีระพงศ์ กล่าว
SHEconomy เทรนด์ตัวแม่
เพื่อให้เกิดความชัดเจนของพลังอำนาจของ “ผู้หญิง” ต่อโลกใบนี้ ทาง Krungthai COMPASS โดยทางฝ่ายวิจัยได้อธิบาย คำว่า “SHEconomy” หรือเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง คือ แนวคิดที่มีผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งในด้านบทบาทของผู้ประกอบการและผู้บริหารในตลาดแรงงาน ไปจนถึงบทบาทของผู้บริโภค โดยปัจจุบัน SHEconomy เป็นหนึ่ง Global Mega-trends ที่กำลังมาแรง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของโลก ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตามอง ส่งผลให้หลายธุรกิจให้ความสนใจที่จะเจาะตลาดกลุ่มผู้หญิงมากขึ้น
ข้อมูลจากบริษัท Accenture เผยว่า ผู้หญิงชาวจีนมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเฉลี่ยปีละ 10 ล้านล้านหยวน (50 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นมูลค่าการบริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก หรือเกือบเท่ากับตลาดค้าปลีกของประเทศอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศสรวมกัน ทำให้ตลาดสินค้าสำหรับผู้หญิงมีความน่าสนใจมากขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา เทรนด์ SHEconomy ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงทั่วโลก จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านประชากรที่มีจำนวนผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับโอกาสด้านการทำงานที่เปิดกว้าง ให้ผู้หญิงสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลให้ผู้หญิงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน
จากงานศึกษาของ The Economist Intelligence Unit ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากสหรัฐฯ พบว่า กำลังซื้อของผู้หญิงทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตจากในปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปอยู่ที่ราว 46 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0% จากปัจจัยสนับสนุน คือ
1) ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ที่มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย 2) บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และ 3) ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ และกำหนดการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือนมากขึ้น
แล้วปัจจัยหนุนเทรนด์ SHEconomy ได้แก่ 1.ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย โดยข้อมูลจาก Populationpyramid ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2565 ผู้หญิงในกลุ่ม Millennials หรือผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน (ช่วงอายุ 27-42 ปี) จำนวน 1,180 ล้านคน มีสัดส่วน 29.8% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของโลก และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1,511 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 35.5% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของโลกในปี 2573 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพหนุนให้การใช้จ่ายโดยรวมของผู้หญิงทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนประชากรผู้หญิงกลุ่ม Millennials ของไทยที่มีจำนวนในปี 2565 อยู่ที่ราว 9.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 25.0% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของไทย และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 11.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30.6% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของไทย ในปี 2573
โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีกำลังซื้อสูง และเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กล้าใช้จ่ายกับสินค้าและการบริการ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งในไทยและต่างประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อผู้หญิงมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อีไลฟ์ จำกัด ที่เป็นผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเครื่องใช้สำนักงานที่ได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับเทรนด์ SHEconomy คือ เก้าอี้นั่งทำงานสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งต่างกับเก้าอี้ทำงานทั่วไปที่ไม่ได้คำนึงถึงสรีระของผู้หญิง เป็นต้น
2.บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ปัจจุบัน ผู้หญิงมีโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานในระดับบริหารที่นำมาซึ่งรายได้และอำนาจในการใช้จ่ายที่มากขึ้น สะท้อนจากผลการสำรวจของ Fortune 2022 ซึ่งเป็นนิตยสารธุรกิจชื่อดังระดับโลกจากประเทศสหรัฐฯ พบว่า จำนวนผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหารของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผลการศึกษาของสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) หรือ OKMD ที่คาดว่าในปี 2568 จะมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงและสามารถสร้างงานใหม่ที่เกิดจากธุรกิจ SME กว่า 9.7 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้รายได้โดยรวมของผู้หญิงอยู่ที่ราว 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และส่งผลต่อเนื่องไปสู่การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นไปอีกด้วย
3.ผู้หญิงเป็นผู้กุมการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน ผู้หญิงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการหารายได้เข้าสู่ครัวเรือนมากกว่าในอดีต อีกทั้งยังได้รับการยอมรับให้เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจและกำหนดการใช้จ่ายในครัวเรือน โดยจากงานศึกษาของ Frost & Sullivan พบว่า ผู้หญิงได้รับการยอมรับให้เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการใช้จ่ายในครอบครัวมากถึง 85% ของรายได้ทั้งหมดของครอบครัว ขณะที่รายได้ของผู้หญิงทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ราว 29.0 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่สามารถมีอำนาจในการใช้จ่าย ซึ่งรวมไปถึงการใช้จ่ายทั้งหมดภายในครอบครัวอยู่ที่ราว 39.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2573 รายได้ของผู้หญิงทั่วโลกจะสูงไปถึง 46.0 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีอำนาจการใช้จ่ายที่ราว 63.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
แนะนำ 4 ปัจจัยยกระดับไปสู่ผลิตภัณฑ์ SHEconomy
1.ศึกษาทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้หญิงที่ไม่หยุดนิ่งอยู่เสมอ เช่น ผู้หญิงที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก กลุ่มนักกีฬา หรือสาวโสด รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่ต้องเลี้ยงลูกเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น
2.ต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปสู่เทรนด์ ESG โดยผลการสำรวจจาก Cotton Incorporated’s 2012 Environment (2012) พบว่า ผู้หญิงมีความเต็มใจจะจ่ายสำหรับสินค้าเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ชาย สอดคล้องกับผลการสำรวจจาก National survey (2022) ชี้ว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการใช้จ่ายให้สินค้าหรือบริษัทที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยเฉพาะผู้หญิงในกลุ่มอายุ 18-34 ปี
3.เน้นช่องทางการขายผ่าน E-Commerce โดยผลการสำรวจจากเถาเป่า ตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่สุดของจีนในเครืออาลีบาบา พบว่า ผู้หญิงชาวจีนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 64% ในวันสตรีสากลในจีนประจำปี 2015-2017 สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของจีน เผยว่า ยอดค้าปลีกออนไลน์ของจีนในปี 2018 มีมูลค่า 1.34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขยายตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับยอดขาย 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2013
4.ให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย เพราะนอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นและความประทับใจที่ดีแล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำและสร้างความผูกพันระยะยาว
ท่ามกลางสังคมการใช้ชีวิตคู่ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร แต่กำลังซื้อจากผู้หญิงจะเป็น “แม่เหล็ก” ใหญ่ในระยะข้างหน้า ที่จะเป็นอีกเซกเมนต์ที่ผู้ประกอบการทั้งภาคอสังหาฯ และธุรกิจค้าปลีกจะเข้าไปช่วงชิงกำลังซื้อ และสร้างมาร์เกตในตลาดที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต!