ซื้อ-ขาย บ้าน คอนโด และที่ดิน มีค่าธรรมเนียมใดบ้างที่ต้องจ่ายในวันโอนบ้าน ณ สำนักงานที่ดิน เริ่มต้นปี 2565 นี้ เพื่อนๆ คนไหนกำลังวางแผนซื้อหรือขายอสังหาริมทรัพย์ เรามีข้อมูลมาฝากกันครับ
ค่าธรรมเนียมโอนบ้าน จะมีทั้งส่วนที่ผู้ซื้อเป็นคนจ่าย ผู้ขายเป็นคนจ่าย หรือจ่ายร่วมกัน โดยไม่มีกฎที่ระบุว่าใครต้องจ่ายค่าส่วนใดบ้าง ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายตามความเหมาะสม ซึ่งบางครั้งผู้ขายก็อาจจัดโปรโมชันจ่ายค่าธรรมเนียมโอนบ้านให้ผู้ซื้อ เรื่องนี้จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องพูดคุยกับผู้ขายให้เข้าใจ
สำหรับกรณีที่ผู้ขายเป็นบริษัทอสังหาฯ ส่วนใหญ่แล้วพนักงานขายจะสรุปรายการค่าใช้จ่ายมาให้ผู้ซื้อได้เตรียมการ แต่หากเป็นการซื้อขายระหว่างบุคคล ผู้ซื้ออาจต้องเตรียมข้อมูลเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งเป็นรายการดังนี้
1.ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์
คิดเป็น 2% ของราคาประเมินที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง ปกติแล้วเป็นค่าใช้จ่ายร่วมกัน และแบ่งจ่ายฝ่ายละ 1% ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งอาจมีบางกรณีที่ผู้ขายเสนอโปรโมชันจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนให้ทั้งหมด หรือกรณีอื่นๆ ตามแต่ผู้ซื้อกับผู้ขายจะตกลงกัน
โดยตลอดปี 2565 นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% ต่อเนื่องจากปี 2564 เพื่อลดภาระให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยและกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยมีเงื่อนไขคือราคาซื้อขายบ้านและคอนโดนั้นจะต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท
ยกตัวอย่างกรณีซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการโอนฯ จากปกติคิด 2% เป็นเงิน 60,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาทเท่านั้น
2.ค่าอากรแสตมป์
คิด 0.5% ของราคาซื้อขาย โดยราคานั้นต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินที่ดิน ซึ่งหากต่ำกว่า จะใช้ราคาประเมินที่ดินมาคำนวณแทน ปกติแล้วเป็นค่าใช้จ่ายของของฝ่ายผู้ขาย แต่ในกรณีที่ผู้ขายเข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์ ในทางกลับกัน ผู้ขายที่เสียค่าอากรแสตมป์แล้ว ก็จะไม่ต้องจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะอีก
3.ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
คิดที่อัตรา 3.3% ของราคาซื้อขาย โดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ขาย สำหรับกรณีที่ผู้ขายครอบครองบ้านเป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่หากครอบครองมากกว่า 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี ก็จะไม่ต้องจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์แทน
4.ค่าจดจำนอง
คิดเป็น 1% ของยอดเงินกู้ทั้งหมด สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายของผู้ที่ซื้อบ้านโดยการกู้ หากซื้อด้วยเงินสดจะไม่ต้องเสียค่าจดจำนอง
เช่นกันกับค่าโอนกรรมสิทธิ์ ตลอดปี 2565 นี้ ค่าจดจำนองจะลดจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับบ้านและคอนโดที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
ยกตัวอย่างกรณีซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการโอนฯ จากปกติคิด 1% เป็นเงิน 30,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาทเท่านั้น
5.ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.)
สำหรับผู้ขายที่เป็นบุคคลธรรมดา จะต้องจ่ายภาษีนี้เพราะถือเป็นรายได้จากธุรกรรมซื้อขาย คิดแบบขั้นบันไดภาษี โดยจำนวนเงินที่ต้องจ่ายขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ถือครองทรัพย์สินและวิธีที่ได้มา อิงจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมที่ดิน ไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายจริงๆ
เพื่อไม่ให้เกิดการเสียผลประโยชน์หรือเอาเปรียบกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ก่อนทำสัญญาทั้ง 2 ฝ่ายต้องตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในวันโอนบ้าน ณ สำนักงานที่ดินให้เรียบร้อย ทางที่ดีควรระบุลงในสัญญาเลยว่าใครจะจ่ายส่วนไหน เพื่อความราบรื่นในวันโอนกรรมสิทธิ์ รับทรัพย์ รับบ้านกันอย่างสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย
ที่มา:
https://www.home.co.th/hometips/house-and-land-transfer-fees-22457