100 ล้านคือ ตัวเลขของสมาชิกในกว่า 190 ประเทศที่ตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว “เน็กฟลิกซ์” (Netflix) บริษัทให้เช่าภาพยนตร์ออนไลน์ ผู้ผันตัวสู่วงการสตรีมมิ่งกลายเป็นเบอร์หนึ่งในแวดวง “Video Streaming” ที่นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก แถมยังมีผู้ชมรายการต่างๆ มากกว่า 125 ล้านชั่วโมงในแต่ละวัน
หนึ่งในอาวุธลับสำคัญที่เน็ตฟลิกซ์นำมาเป็นหมัดเด็ด และใช้สอนมวยแบรนด์น้อย-ใหญ่ทั่วโลก คือ พลังของคอนเทนต์ มาร์เกตติ้ง ในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม 1.ใช้เสียงผู้ชมกำหนดทิศทางของคอนเทนต์ คำถามสำคัญที่มักเกิดขึ้นเสมอในการทำคอนเทนต์คือ ควรตั้งต้นจากตรงไหน สำหรับเน็กฟลิกซ์สิ่งที่มีค่าที่สุด คือเสียงของ audience หรือ ลูกค้า อาจจะฟังดูเหมือนโลกสวย แต่นี่คือ เรื่องจริงผ่านจอ ท่ามกลางคอนเทนต์มากมายที่ไหลบ่าอยู่บนโลกออนไลน์ มีหลายคอนเทนต์ที่เกิดมา และ สลายไปโดยไร้ผู้เหลียวแล หรือ อยากมีส่วนร่วม (engage) นั่นเพราะขาดก้าวแรกที่แข็งแรง นั่นคือ ออกแบบคอนเทนต์โดยไม่ได้ศึกษาความต้องการของลูกค้า “เป็นเรื่องสำคัญมากที่แบรนด์ต้องเข้าใจบทบาทที่จะเล่นหรือส่งไปถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สำหรับสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ อาจสร้างจุดยืนของแบรนด์ ที่ตกผลึกจากการทำความเข้าใจฐานลูกค้าที่มีอยู่จำกัด ขณะที่บริษัทที่ตั้งไข่ได้ในระดับหนึ่งไม่เพียงต้องขยันทำการบ้าน ทำวิจัยเพื่อเข้าใจลูกค้าไม่ใช่แค่ฐานลูกค้าที่มีอยู่ แต่รวมไปถึงว่าที่ลูกค้าอนาคต” 2.คอนเทนต์มีค่าราวกับทองก็จริง แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้มอบทองให้คนที่เห็นค่าหรือเปล่า ก่อนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการสตรีมมิงวันนี้ เน็ตฟลิกซ์เริ่มต้นการทำธุรกิจให้บริการเช่าวิดีโอทางออนไลน์เล็กๆ ซึ่งหากย้อนไปในยุค 90s ซึ่งเป็นยุคเรืองรองของตลาดอุตสาหกรรมเช่ายืมวิดีโอ เน็ตฟลิกซ์ถือว่าอยู่คนละชั้นกับบล็อกบัสเตอร์แบบไม่ติดฝุ่น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อ รีด แฮสติงส์ ผู้ก่อตั้งเน็ตฟลิกซ์เข้าไปเจรจากับผู้บริหารของบล็อกบัสเตอร์ในช่วงปี 2000 เพื่อเสนอให้ร่วมทุนบริษัททั้ง 2 เข้าด้วยกัน จะถูกปฏิเสธตอกกลับมาอย่างไม่เป็นท่า ทว่าหลังจากเวลาผ่านไป โลกที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ความนิยมในม้วนวิดีโอ แผ่นซีดี และดีวีดีหดหาย รายได้ของบล็อกบัสเตอร์ก็ตกต่ำ สวนทางกับเน็ตฟลิกซ์ซึ่งเห็นเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปไวกว่า จึงปรับทัพธุรกิจด้วยการบริหารคอนเทนต์ที่มีให้ตรงจริตคนยุคใหม่มากขึ้น จนกลายเป็นเจ้าตลาดแห่งธุรกิจสตรีมมิงที่ไร้เทียมทาน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเน็ตฟลิกซ์ คือ ต่อให้คอนเทนต์จะสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ คุณจะส่งมอบสิ่งที่มีค่านี้ให้ตรงใจลูกค้าอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องส่งมอบด้วยวิธีการในแบบที่ลูกค้าต้องการอยากจะรับด้วย 3.รู้เขารู้เรา รบกี่ครั้งก็กำชัย เคล็ดวิชาที่ไม่มีวันตาย คือ การรู้เขารู้เรา หลักการง่ายๆ ในการผลิตคอนเทนต์ให้ได้ใจลูกค้า คือ คิดนอกกรอบ แทนที่จะทำเหมือนคนอื่นๆ หรือลอกเลียนแบบความสำเร็จของคนอื่น คุณต้องคิดให้เหนือชั้นขึ้นไปอีกขั้น หาหนทางที่จะส่งมอบคุณค่าในสิ่งที่คุณมีออกไป คิดถึงวันพรุ่งนี้มากกว่าวันนี้ จำไว้ว่าเมื่อไหร่ที่คุณพูดว่า “วันนี้” เท่ากับคุณกำลังพูดถึงเมื่อวานซึ่งเป็นที่สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่มีวันแก้ไขได้ 4.หยุดยืมจมูกคนอื่นหายใจ เน็ตฟลิกซ์เป็นหนึ่งในตัวอย่างของบริษัทที่คิดใหญ่ วาดภาพธุรกิจบนโลกออนไลน์ไว้กว้างไกลกว่าที่ใครจะคิด ตั้งแต่เริ่มต้นบริษัท ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่น่าทำตามและต่อยอด คือ เน็ตฟลิกซ์โฟกัสที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลักแล้วอาศัยกลยุทธ์การสร้างคอนเทนต์การตลาดช่วยบรรลุความต้องการนั้น ที่สำคัญเน้นความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จากนั้นจึงค่อยๆเพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์เข้าไป โดยไม่ลืมว่า คอนเทนต์ที่มีเสน่ห์ต้องมีมนต์ขลังของความเป็นออริจินัล แทนที่จะพึ่งจมูกคนอื่นหายใจ เป็นแค่ตัวกลางหรือทางผ่านในการส่งมอบความบันเทิง เน็ตฟลิกซ์อีกเช่นกันที่เลือกสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของตัวเอง ปฏิวัติตัวเองจากเดิมที่สมาชิกจ่ายเงินเพื่อใช้เน็ตฟลิกซ์เป็นช่องทางรับชมผลงานภาพยนตร์หรือซีรีย์ แต่ตอนนี้หลายคนเลือกจ่ายเพื่อดูคอนเทนต์ที่เป็นออริจินัลของเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งหาชมที่แพลตฟอร์มอื่นไม่ได้ 5.พิเศษไม่พอต้องเทเลอร์เมดให้เป็น ไม่ได้มีแต่ไฮแบรนด์ หรือลักชัวรี่แบรนด์เท่านั้นที่สามารถนำเสนอบริการแบบเทเลอร์เมดตามใจลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษเท่านั้น แต่เน็กฟลิกซ์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สตรีมมิ่งวิดีโอก็ทำได้ ยกตัวอย่างตอนที่เน็กฟลิกซ์เปิดตัวซีรีย์ House of Cards ซีรีย์การเมืองเรื่องดังซึ่งเน็ตฟลิกซ์ใช้วิธีสุดคูลในการสร้างกระแส ด้วยการผลิตทีเซอร์ออกมาถึง 7 แบบ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นสายฮาร์ดคอร์ชอบเรื่องการเมือง หรือ ชอบเรื่องประวัติศาสตร์ หนังที่พูดถึงเรื่องเพศ ซีรีย์นี้ก็พร้อมเป็นคำตอบเพราะมีหลายแง่มุมให้คอหนัง ทั้งหมดนี้คือ 5 เคล็ดวิชาที่นักการเมืองควรรู้ และนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของสินค้าหรือบริการของตัวเอง